
ร้านส้มตำข้างทางสุดเดิร์น ที่ครองใจนักชิมด้วยรสชาติสุดแซ่บ อัดแน่นไปด้วยคุณภาพการบริการดุจร้านบนห้าง แต่ราคาสบายกระเป๋าเข้าถึงได้ทุกคน ท่ามกลางบรรยากาศที่ใครเห็นก็นึกว่าเป็นคาเฟ่ชิกๆ ตำแซ่บ คือร้านส้มตำเจ้าดังในเมืองอุดรธานี ซึ่งเปิดกิจการเข้าสู่ปีที่ 6 ภายใต้การดูแลของ คุณบอล-ภานุพงศ์ จำปาสึก ผู้ก่อตั้งร้าน อันเกิดจากความฝันที่อยากเสิร์ฟเมนูประจำชาวอีสาน ให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงง่าย พร้อมกับมอบการบริการที่ดีที่สุด ในราคาที่สบายกระเป๋า

จากจุดเริ่มต้นเป็นรถเข็นขายริมถนน ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ทั้งแซ่บ นัวกลมกล่อมด้วยรสของปลาร้า กลิ่นหอมหวนและไม่คาว จัดจ้านด้วยมะนาวแท้ มะละกอสดใหม่ จากสวนของตัวเองและชาวบ้านนาข่ากว่าร้อยครัวเรือน จนขายดิบขายดี คิวยาวชนิดที่วันหนึ่งไม่ต่ำกว่าสองร้อยคิว ซึ่งเพียงสองเดือนแรกก็สามารถขยับขยายเป็นร้านที่หยัดยืนมาจากถึงทุกวันนี้ โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้วสองสาขา

ไม่เพียงหัวใจแห่งรสชาติที่อร่อย จนเป็นที่บอกกันปากต่อปาก เคล็ดลับของตำแซ่บที่สำคัญอีกอย่างคือนำ Pain point และจุดเด่นแต่ละร้าน มาสร้างจุดขายให้ตัวเองได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะคาแรกเตอร์ร้านที่ตกแต่งสวยงาม ไม่ต่างจากคาเฟ่สุดชิก พร้อมกับจุดยืนที่ยึดถือเสมอมา คือ รสชาติ ราคา บรรยากาศ ความสะอาด และการบริการ ซึ่งสร้างความแตกต่างจนก้าวเป็นร้านส้มตำแถวหน้าของจังหวัด

รวมเอาของดีมาไว้ในร้านเดียว
ด้วยอุดรธานีเป็นหัวเมืองใหญ่ของอีสานตอนบน ที่นี่จึงคราคร่ำไปด้วยร้านอาหารมากมาย เฉพาะอย่างยิ่งร้านส้มตำที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ถึงอย่างงนั้นสิ่งนั้นก็ถือเป็นความฝันของคุณบอล ที่อยากจะมีร้านเป็นของตัวเองเช่นกัน เหตุผลก็เพราะว่าเป็นส้มตำเป็นอาหารหลักของคนอีสานที่กินกันได้ในทุกมื้อ
“เราฝันมาตลอดว่าอยากเปิดร้านขายอะไรสักอย่างหนึ่ง ประกอบกับช่วงนั้นที่บ้านเป็นหนี้ เลยยิ่งเป็นแรงผลักดันให้คิดอยากจะเปิดร้านขายส้มตำ เพราะมองว่าเป็นอาหารหลักของคนอีสานที่กินได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ คนสูงอายุ กินได้ทั้งในมื้อเช้า เที่ยง และเย็น
“แต่คนเราก็กินส้มตำไม่เหมือนกัน บางคนกินตอนเช้า บางคนกินตอนเที่ยง บางคนเที่ยวกลางคืนเสร็จค่อยกิน ส้มตำจึงสามารถขายได้ทั้งวันทั้งคืน ตอบโจทย์กับที่เราตั้งใจไว้”

เขาวางแผนไว้ว่าเริ่มต้นจากเล็กๆ เปิดเป็นรถเข็นริมถนนเน้นขายแบบ Grab & Go แต่ก็พอจะมีโต๊ะตั้งให้ลูกค้าได้นั่งกินบ้างแต่ไม่มาก เพื่อจะดูแล้วได้ทั่วถึง เพราะในร้านมีเพียงตัวเขารับบทมือตำ คุณแม่เป็นคนเตรียมของ และน้องเป็นคนเสิร์ฟ มีทีมงานช่วยกันทั้งสิ้นสามคน
ก่อนเปิดร้านเขาตระเวนศึกษาแนวทางจากแต่ละร้านทั่วเมืองอุดรธานี สำรวจเอาจุดเด่นมาต่อยอด และเก็บจุดด้อยมาคิดหาวิธีปรับปรุงและพัฒนาให้จุดแข็งของตัวเอง กระทั่งรีเสิร์ชทำเลต่างๆ ว่าย่านไหนเป็นช่องว่างที่ยังไม่มีร้านส้มตำเปิดอยู่บริเวณนั้น
“พอเรารู้ว่าจะเปิดร้านขายส้มตำ สิ่งที่ทำคือออกไปสำรวจข้อมูลของแต่ละร้าน ว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของรสชาติ ราคา บรรยากาศ ความสะอาด และการบริการ เพื่อนำเอาข้อดีของทุกร้านมารวมเป็นข้อดีของเรา และเอาข้อเสียมาปรับปรุงและพัฒนา เพ่ือทำให้เป็นข้อดีของเรา ตำแซ่บเลยเป็นร้านส้มตำที่ไม่เหมือนใครในอุดร”

นอกจากนั้นเขายังมองถึงเรื่องทำเลที่ตั้ง ถึงขั้นรีเสิร์ชว่าแต่ละร้านตั้งอยู่ตรงไหนของเมือง แล้วร้านของเขาควรตั้งตรงไหน ซึ่งพบว่าโซนใจกลางเมืองอุดรธานีที่ยังมีช่องว่าง ไม่มีร้านส้มตำเปิดเลยคือ แถวอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
เขาบอกว่าทำเลนี้เสมือนกับเป็นมุมหัวมังกร เพราะถ้าสัญจรไปมาบนถนนทหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งทั้งมหาวิทยาลัย ค่ายทหาร กองบิน โรงพยาบาล ยังเป็นถนนสำคัญในการเข้าออกเมืองสู่ถนนมิตรภาพ แน่นอนว่ายังไงก็จะต้องผ่านร้านของเขา และไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องแวะมาซื้อส้มตำของเขา
“ก่อนเปิดร้านเราหิ้วน้ำปลาร้ากับมะละกอใส่กระเป๋า แล้วตระเวนไปหาเพื่อนทุกคนในอุดรธานี เพื่อจะไปลองทำให้เขาชิม จะเปิดร้านนะ ช่วยแนะนำหน่อย เราก็ฝึกฝนฝีมือการตำส้มตำด้วยตัวเอง พอเปิดร้านก็ให้ลูกค้าติติงบ้าง เพราะมันไม่ได้อร่อยตั้งแต่แรกหรอก กว่าจะรู้ใจลูกค้าทั้งอุดรธานีว่ากินรสชาติประมาณไหน ใช้เวลานานพอสมควรในการซาวน์เสียง”
ทันทีที่เปิดรถเข็นขายส้มตำในปี 2560 ยอดขายก็เพิ่มเป็นเท่าตัวทุกวัน รสชาติความแซ่บ ปลาร้านัวกลมกล่อม กลิ่นหอมไม่เหม็นคาว วัตถุดิบสดใหม่จากสวน บีบมะนาวสดๆ ทุกครกจนยั่วน้ำลาย เหล่านี้ล้วนเป็นที่ถูกบอกต่อกัน พีคสุดมีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียด 200-300 คิวต่อวัน ต้องใช้มะละกอมากถึงวันละ 100 กิโลกรัม
เพียงสองเดือนก็สามารถขยายเปิดเป็นร้านขนาดใหญ่ขึ้น รองรับได้ถึง 25 โต๊ะจนถึงทุกวันนี้ ก่อนจะขยายสาขา 2 เพิ่มในปีที่ 4 ของการเปิดร้าน

การตกแต่งที่แตกต่างจากร้านส้มตำทั่วไป
หากได้มาเยือนตำแซ่บ สิ่งที่สะดุดตาแรกสุด คือการตกแต่งร้านที่ให้อารมณ์คาเฟ่ชิกๆ มากกว่าร้านส้มตำ ด้วยความต้องการสร้างความแปลกใหม่ และแตกต่างจากร้านส้มตำทั่วไป และยังคือหนึ่งในมาตรฐานของตำแซ่บที่คุณบอลหวังจะเซ็ตให้ตัวเองเอาไว้ นั่นคือ ‘บรรยากาศ’ ต้องดี
คุณบอลเล่าเบื้องหลังการออกร้านให้ฟังว่า ต้องการให้ลูกค้าได้สัมผัสกับกลิ่นอายความเป็นธรรมชาติพื้นบ้านอีสาน จึงมีการประดับด้วยไม้ไผ่สีทองอร่ามไปทั่วทั้งร้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นไม้ไผ่ที่ครอบครัวปลูกเอง

“ไม้ไผ่กับคนอีสานไปที่ไหนเขาก็รู้ เดินเข้ามาในร้านก็สามารถสื่อสารได้ โดยที่เราไม่ต้องบอกว่าเป็นร้านอาหารอีสานนะ เขาสามารถเข้ามานั่ง แล้วสั่งส้มตำกินกลางดงไม้ไผ่ได้ ซึ่งก็ให้อรรถรสของการกินอีกด้วย”
ไม่เพียงการตกแต่งร้านด้วยไม้ไผ่ที่งดงาม เขายังเข้าใจถึงเทรนด์ลูกค้าในปัจจุบัน ที่นิยมถ่ายภาพแชร์ลงโซเชียล จึงใส่ใจถึงการออกแบบแสงไฟภายในร้าน เพื่อให้ถ่ายรูปได้สวย ทั้งตัวลูกค้า และเมนูอาหาร ตลอดจนการตกแต่งจานอาหารที่จัดเต็มอลังการ อีกทั้งยังเน้นใช้ภาชนะแบบเมลามีนสีขาว เกรดพรีเมียม ซึ่งช่วยขับให้ส้มตำและอาหารดูน่ารับประทาน แถมถ่ายภาพออกมาสวยทุกมุม
“ร้านอาหารในยุคปัจจุบัน อันดับแรกคือภาพต้องได้ เวลาเช็กอินภาพต้องสวย เรามีการปรับไฟทุกมุม วัดแสงไฟว่าโดนอาหาร โดนใบหน้าลูกค้าจะเป็นยังไง เหลืองไปมั้ย ต้องทำให้ภายในร้านถ่ายรูปออกมาสวยแบบ 360 องศา
“เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เราคิดแทนคนที่มาหาเรา ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้าง ต้องการการบริการที่ดี ต้องการร้านสวยๆ ต้องการมุมถ่ายรูป เราพยายามตอบสนองสิ่งนั้นเข้าไป ร้านส้มตำลักษณะคาเฟ่ในอุดรธานียังไม่มี เราก็ไม่ได้ออกแนวคาเฟ่หรอก แต่ทำให้ลูกค้ามาแล้วสบายใจที่ได้จ่ายได้กิน ให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่ามาอุดรธานี ต้องมาตำแซ่บนะ กลับไปแล้วอยากกลับมาอีก”

ราคาสบายกระเป๋ากับงานบริการลูกค้าคือหัวใจสำคัญ
คุณบอลเป็นอีกคนที่บอกตัวเองว่าเป็นเด็กบ้านนอก และตอนนั้นฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดี บ้านของเขาอยู่ในชุมชนนาข่า ห่างจากตัวเมืองออกมาประมาณ 20 กิโลเมตร
สิ่งที่ติดอยู่ในใจของเขาคือ ไม่มีเงินแม้แต่จะนั่งกินส้มตำเจ้าดังๆ จึงฝันมาตลอดว่าอยากทำร้านเป็นของตัวเอง มีบรรยากาศดีงาม รสชาติอร่อย ที่สำคัญคือ ‘ราคา’ เข้าถึงง่ายกับทุกคน จึงเป็นแรงผลักดันให้เซ็ตเป็นมาตรฐานของตำแซ่บ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ครกละ 40 บาท จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นลูกค้ามานั่งตั้งแต่ เด็กนักเรียนนักศึกษา วัยทำงาน ครอบครัว เรื่อบไปจนถึงนักท่องเที่ยว

หัวใจสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ตำแซ่บมีความแตกต่างคือ ‘งานบริการ’
เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่เขาพบจากร้านต่างๆ ตั้งแต่ตอนรีเสิร์ชก่อนเปิดร้านแล้ว เขาพบว่าทุกร้านต้องบริการตัวเอง ตั้งแต่หยิบจาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ไปจนถึงน้ำแข็ง จึงเป็นสิ่งที่นำมาแต่งเติมให้กับร้านของตัวเอง โดยจะมีพนักงานคอยบริการให้ลูกค้าด้วยความเต็มใจ ถึงจะเป็นร้านสแตนอโลนริมทาง แต่การบริการก็เทียบกับร้านบนห้างได้ไม่น้อยหน้า
ใช่ว่าสิ่งนี้จะเกิดจากเห็นช่องว่างและสร้างความแตกต่างเท่านั้น แต่เกิดจากหัวใจรักในงานบริการที่คุณบอลมีติดตัวมาเมื่อตอนวัยเยาว์ ซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารมาตั้งแต่มัธยม มักมีเสียงชื่นชมจากลูกค้าที่เคยไปตำแซ่บพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พนักงานพูดจาเพราะตั้งแต่จอดรถเลย ซึ่งสิ่งที่เขาถ่ายทอดให้กับพนักงานทุกคน นั่นคือพื้นฐานงานบริการ และรักในสิ่งที่ทำ
“อันดับแรกเราจะเทรนพนักงานตั้งแต่ลูกค้าลงรถ ท่าทางการโบกรถ การผายมือต้องทำยังไง การเดินเข้าหาลูกค้า สวัสดีลูกค้าตั้งแต่ลงรถ เดินเข้าโต๊ะต้องสอบถามว่ารับน้ำอะไร มีคนรับออร์เดอร์ให้ ลูกค้าไม่ต้องจดเอง ถ้าคนไปบ่อยๆ จะรู้ว่าพนักงานกล่าวขอบคุณ คำขอโทษ ขออนุญาตบ่อยมาก ขออนุญาตเสิร์ฟนะครับ คำนี้มันเป็นพิมพ์เดียวกันหมดแล้ว”
“นอกจากนี้เรายังปลูกฝังให้เขามีความเป็นเจ้าของร้าน เหมือนมีเราอยู่ในร้านยี่สิบคน เพราะงานบริการลูกค้ามันละเอียด ต้องเข้าใจลูกค้า ต้องเอาใจลูกค้า เราพยายามสอนเวลาเจอกับลูกค้า ให้เปลี่ยนสีหน้า เปลี่ยนอารมณ์ ให้ใส่ความเป็นงานบริการเข้าไป ส่วนมากจะเน้นความฉลาดทางอารมณ์มากกว่า ให้เขารู้สึกไม่โกรธง่าย มีความสุขในการทำงาน”

เบื้องหลังรสชาติคือวัตถุดิบจากชุมชนในพื้นที่
เขาต้องการใช้ส้มตำช่วยสนับสนุนชุมชนถิ่นเกิดด้วย คำนี้คงไม่อาจพูดเกินความจริงแต่ประการใด ซึ่งเบื้องหลังความอร่อยของตำแซ่บ คือความพิถีพิถันในการเลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ อย่างมะละกอ ที่เป็นตัวชูโรงนำมาจากสวนปลอดสารของทางร้านเอง ซึ่งปลูกไว้กว่า 500 ต้น รวมถึงข้าวเหนียวที่หอมอร่อย ก็ในนาของตัวเองกว่า 20 ไร่ เพื่อเอามาเสิร์ฟภายในร้าน
ตลอดจนยังอุดหนุนผลผลิตทางเกษตรจากคนในหมู่บ้านน่าข่ากว่า 100 ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น มะละกอ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะเขือเทศ และข้าวเหนียว ฯลฯ ซึ่งบางส่วนยังมอบพันธุ์พืชให้ชาวบ้านไปปลูก และรับซื้อพืชผลกลับมา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นอีกทาง
“ความรู้สึกของเราคือไม่อยากมีเงินหมุนเวียนแค่คนเดียว แต่เราต้องการกระจายเงินถึงชุมชนด้วย เพราะเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่แล้วว่า เขาหาหอย ปลูกข้าว ปลูกพริก มะละกอ ซึ่งมันมีอยู่แล้วในชุมชนของเราเอง พวกหอยเชอรี กุ้ง ชาวบ้านก็เอามาส่ง เราก็ได้ของสดใหม่ทุกวัน”
“คนอีสานส่วนมากจะปลูกมะละกอ พริก มะเขือเทศอยู่แล้ว ยังมีเกลือ มีถ่าน ซึ่งวันหนึ่งใช้ถ่านเยอะมาก ประมาณ 8 กระสอบ สำหรับเผาปลาวันละ 200 ตัว รวมถึงหน่อไม้ ของป่า มดแดง วัตถุดิบตามฤดูกาล เราพอจะช่วยเขาได้ก็รับซื้อ ใครมีข้าวก็เอาข้าวมาขาย ข้าวเล้านี้หมดก็เอาข้าวเล้านี้ มันเป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน มีอะไรก็ยื่นข้ามรั่วให้กัน เหมือนเราได้ช่วยชุมชน ทำให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น”
“เมื่อปีที่แล้วมีคุณยายมาร้องไห้ขอบคุณที่เราเปิดร้าน เพราะทำให้เขามีเงินให้หลานไปโรงเรียน พ่อแม่เขาทิ้ง แกเลี้ยงหลานคนเดียว ไม่รู้จะทำงานที่ไหน แกก็เอามะเขือเทศที่เราเอาต้นไปให้ปลูกมาขาย มีรายได้จากเราวันละ 100-200 บาท เพื่อให้หลานไปโรงเรียน อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งนี้เรามองว่าเป็นการสร้างชุมชนให้เข็มแข็ง”

ไม่เพียงเท่านั้น ทุกคนในชุมชนยังสามารมาทำงานที่ร้านได้ ตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชนมาทำงานเพื่อหาทุนการศึกษา และประสบการณ์ บางคนเคยเป็นเด็กเกเร ติดยาเสพติดก็ได้รับโอกาสให้มีอาชีพ มีชีวิตใหม่ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่บ้านไม่มีงานทำ ก็สามารถมาเป็นพ่อครัวแม่ครัวได้ ซึ่งปัจจุบันก็ทีมงานสองสาขารวมกันถึง 45 ชีวิต
“ไม่ใช่แค่ได้เงิน แต่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เราสร้างอาชีพ สอนงาน สอนเทคนิคในการบริการให้ทุกคนติดตัวไปตลอดชีวิต”
อนาคตคุณบอลแพลนเอาไว้ว่าเตรียมจะขยายกิจการ อย่างไม่ไกลนี้อุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ปี 2569 เล็งเปิดสาขาใหม่เอาไว้ ไม่ห่างจากพื้นที่จัดงาน ทั้งยังจะเป็นสาขาต้นแบบสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ของตำแซ่บสำหรับผู้สนใจนำตำแซ่บไปเปิดต่อยอด ซึ่งนั่นคือความฝันอีกก้าวที่เขาตั้งเป้าเอาไว้

สำหรับตำแซ่บ สาขา 1 หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ใกล้กับอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์) ถ.ทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เปิดบริการ เวลา 11.00 – 22.00 น. หยุดทุกวันศุกร์ ติดต่อ โทร. 096 307 0399 หรือ Facebook ร้านตำแซ่บอุดรธานี 1 และ สาขา 2 แยกวิทยาลัยพละ ถ.บุญยาหาร (เลี่ยงเมืองอุดรธานี-หนองบัวลำภู) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 22.00 น. ติดต่อ โทร. 080 316 5978 หรือ Facebook ร้านตำแซ่บอุดรฯ สาขา 2





Fact File ร้านตำแซ่บ
*ร้านตำแซ่บก่อตั้งโดย คุณบอล-ภานุพงศ์ จำปาสึก จากเด็กเสิร์ฟ เด็กร้านคาร์แคร์ สู่เจ้าของร้านส้มตำชื่อดัง ซึ่งต้องการสร้างร้านส้มตำที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงรสชาติแซ่บจัดจ้าน ตามแบบตำรับชาวอีสาน ทั้งยังสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่ม ด้วยราคาย่อมเยาคุ้มค่าเงินที่จ่าย และการบริการดุจร้านบนห้าง
*จุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 จากรถเข็นขายริมถนนทหาร ใกล้กับอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มีบริการเพียง 4 โต๊ะ แต่แค่สองเดือนได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม คิวต่อยาวเหยียด จนต้องขยับขยายเปิดเป็นร้านขนาด 25 โต๊ะ เป็นสาขาแรก บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ใกล้ที่ตั้งรถเข็นเดิม)
*ส้มตำรสแซ่บเป็นสูตรที่คิดเองโดย คุณบอล-ภานุพงศ์ จำปาสึก มาจากเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก และพัฒนาจากคำติชมของลูกค้า จนมีเอกลักษณ์เฉพาะที่น้ำปลาร้ารสนัวกลมกล่อม ไม่เค็มจนเกินไป กลิ่นหอมแต่ไม่คาว ใช้มะนาวสดทุกจาน วัตถุดิบสดใหม่ทุกวัน
*การออกแบบตกแต่งร้านมีบรรยากาศคล้ายกับคาเฟ่ ประดับด้วยไม้ไผ่สีทองอร่ามไปทั่วทั้งร้าน เพื่อให้สัมผัสกับกลิ่นอายความเป็นธรรมชาติพื้นบ้านอีสาน มอบความรู้สึกการนั่งรับประทานส้มตำและอาหารอีสานกลางดงไม้ไผ่สไตล์บ้านๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นไม้ไผ่ที่ครอบครัวเจ้าของร้านปลูกเอง
*วัตถุดิบหลัก อย่างมะละกอ นำมาจากสวนปลอดสารของทางร้านเอง ซึ่งปลูกไว้กว่า 500 ต้น ข้าวเหนียวปลูกเองกว่า 20 ไร่ ตลอดจนยังอุดหนุนผลผลิตทางเกษตรจากในหมู่บ้านน่าข่ากว่า 100 ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น มะละกอ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะเขือเทศ ข้าวเหนียว หอยเชอรี และหอยโข่ง ฯลฯ บางส่วนยังมอบพันธุ์พืชให้ชาวบ้านปลูกและรับซื้อพืชผลกลับมา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น
ตำแซ่บ มี 2 สาขา
สาขา 1 หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถ.ทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
เปิดบริการ ทุกวัน เวลา 11.00 – 22.00 น. (หยุดทุกวันศุกร์)
โทร. 096 307 0399
Facebook ร้านตำแซ่บอุดรธานี 1
สาขา 2 แยกวิทยาลัยพละ ถ.บุญยาหาร (เลี่ยงเมืองอุดรธานี-หนองบัวลำภู) ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 22.00 น.
โทร. 080 316 5978
Facebook ร้านตำแซ่บอุดรฯ สาขา 2